
ขอเข้าประเด็นสำหรับคนที่ดูต่อจาก Aggretsuko ภาค 1 หรือ “Aggressive Retsuko-เร็ทสึโกะสายโหด” ภาค 2 นี้ ยังคงพูดถึงเรื่องการแต่งงานอยู่ แต่ขยายความหมายของคำว่า ‘แต่งงาน’ ในมุมมองที่กว้างขึ้นทั้งจากผู้ชายและผู้หญิง ผู้ใหญ่ และเด็ก เช่น ยังไม่อยากแต่งงานเพราะกลัวสูญเสียตัวตน หรือแต่งงานทางพฤตินัยเท่านั้น คือฉันอยากอยู่กับเธอตลอดชีวิตนะ แต่ไม่ขอจัดงานแต่งงานและจดทะเบียน ส่วนเรื่องของความเข้มข้นเรื่องการลุกขึ้นสู้เพื่อเอาตัวรอดในที่ทำงานสไตล์ญี่ปุ่นซึ่งเป็นจุดขายอนิเมะภาคที่แล้วนั้นลดลง (ขาดความสะใจ ฮา) เช่น
ภาพการว้าก Battle คาราโอเกะล้างแค้นระหว่างเร็ทสึโกะว้าก Death Metal และตันบุโจวร้องฮิบฮอป ในงาน ‘โนมิไค (飲み会)’ สังสรรค์หลังเลิกงานนั้น เป็นจุดที่ปลดล็อกก็ว่าได้ เพราะส่วนใหญ่เร็ทสึโกะจะก้มหัวยอมรับผิดจากการถูกกดดันโดยตัน หัวหน้างาน แต่พอร่วมงานเลี้ยงที่เมื่อเหล้าเข้าปากทั้งหัวหน้า และลูกน้องเสมอภาคกัน ไม่ถือสาพฤติกรรมเพี้ยนๆ อยากทำไรทำ ก็เป็นการเอาคืนของผู้ใต้บังคับบรรชาอย่าง สาวน้อยที่ดูไร้พิษภัยนี้ล่ะ
เร็ทสึโกะ คือคาแรคเตอร์ที่ทางค่าย Sanrio (ค่ายเดียวกับ Hello Kitty) ผลิตขึ้นมาเมื่อปี 2015 เริ่มฉายเมษายน 2018 และมีตอนพิเศษวันคริสมาสต์เมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกันผ่านทาง Netflix เป็นซีรีส์แบบ 10 ตอนจบ ตอนละ 15 นาที โดย Aggretsuko Season 2 เพิ่งจะออกฉายทั่วโลกพร้อมกันไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2019

ขอแนะนำตัวละครหลักก่อน เร็ทสึโกะ สาวออฟฟิสวัย 25 ปีราศีพิจิก (สายโหดแต่ฉาบหน้าด้วยความแบ๊ว) เป็นคาแลกเตอร์ที่มีมิติ และมีความเรียลสูง คือถึงแม้ภายนอกจะดูแบ๊ว อ่อนต่อโลก แต่ข้างในเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ตามคนเสมอไป มีความทะเยอทะยานต้องการเป็นอิสระ และปะทุความหัวร้อนร้องคาราโอเกะเดธ เมธทัลดาร์คๆ ระบายความไม่ได้ดั่งใจในชีวิตอยู่ประจำ

ประเด็นเรื่องความเครียดในที่ทำงานลดลงกว่าภาคที่แล้ว เนื่องจากเร็ทสึโกะปรับตัวกับงานประจำได้แล้ว ประเด็นซีซั่น 2 นี้จึงสามารถแบ่งเป็น 3 พาร์ท
- การดูตัวเพื่อแต่งงาน จัดการโดยแม่ (โบราณมาก)
- อาไนคุง ตัวน่ารำคาญ เด็กใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงานเรียกร้องสิทธิ์ โวยวายกับบริษัทเพราะกลัวการถูกกดขี่ ปกป้องตัวเองจากการเข้าสู่สังคมการทำงานแบบผู้ใหญ่
- ความเป็นอิสระ และการโตเป็นผู้ใหญ่ โดยมีสัญลักษณ์เป็นเร็ทสึโกะได้รับใบขับขี่รถยนต์เดินทางไปเที่ยวที่ไหนก็ได้กับเจ้ๆ กอริบุโจว และวาชิมิซัง

ส่วนตัวคิดว่าพาร์ทหลังสุดเล่าได้ดี มันไปเชื่อมโยงกับความคิดว่า การแต่งงานเพื่ออิสรภาพของชีวิต ไม่ต้องทำงานและขอเบิกเงินจากผู้ชาย มันใช่แล้วจริงๆ เหรอ? เจ้วาชิมิค้านหัวชนฝา ส่วนกอริบุโจวยังมีความฝันหวานเรื่องแต่งงานเป็นพวกเดียวกับเร็ทสึโกะอยู่
ประกอบกับตัวละครใหม่ ทาดาโนะ ที่มีความคิดว่า ชีวิตคู่รักกันแต่ไม่จำเป็นต้องเอาการแต่งงานเป็นข้อผูกมัด มันเป็นไปได้จริงหรือไม่ในโลกปัจจุบัน?
และประเด็นที่เสริมเข้ามาคือเทคโนโลยีจะมาช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากงานที่ใช้แรงงาน ประเด็นนี้คือ AI จะทำงานตามคำสั่งมนุษย์ ส่วนคนจะมีเวลาเพิ่มขึ้นเพื่อคิดทำเรื่องสนุกๆ ได้ง่ายมากขึ้น ถ้าไม่มีประโยคว่า ในอีก 30 ปีข้างหน้า ดูจะเป็นเรื่องที่เพ้อฝันเกินจริงไปมาก แต่แอดชอบความนำสมัยของประเด็นนี้ที่ถูกแทรกเข้ามา
และมีลุ้นตอนจบระหว่างพระเอกสองคนนี้
Haida-ไฮดะ : มนุษย์เงินเดือนเพื่อนรักที่คอยแอบปกป้องเร็ทสึโกะแบบลับๆ มีความฮาร์ดคอร์ห้าวๆ กากๆ แต่จริงใจ
Tadano-ทาดาโนะ : เจ้าของธุรกิจ AI เจ้าชายในฝันที่เร็ทสึโกะตกหลุมรัก สามารถเสกอะไรก็ได้ที่ต้องการด้วยเงิน มีความคิดที่ใหม่ ไม่ยึดติดกรอบธรรมเนียมสังคม
ส่วนตัวยังคงชอบอนิเมะภาคนี้อยู่ โดดเด่นในเรื่องความเรียลที่ตีแผ่เสียดสีสังคมทำงาน และกรอบสังคมวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นได้เจ็บแสบ โดยเฉพาะมุมมองเรื่องการแต่งงาน และชอบที่มันแสดงความคิดแบบญี่ปุ่นได้ชัดเจนผ่านตัวละคร ไม่เขิลอายที่เล่าเรื่องตัวเอง แม้ว่าจะถูกนำไปฉายทั่วโลก และมีแฟนคลับเหนียวหนึบที่อเมริกาก็ตาม บวกกับเน้นน้ำหนัก Feminist ที่แลดูตลกร้าย และจุดหักมุมที่ทำได้เยี่ยม แต่ผิดหวังในเรื่องความเข้มข้นเรื่องความเครียดในที่ทำงานซึ่งเป็นจุดขายของอนิเมะเรื่องนี้