
ทริปเที่ยวญี่ปุ่น ชมซากุระเกิดขึ้นแบบกระทันหันก่อนเวลาเดินทางเพียงแค่กว่า 3 เดือน
แต่เวลาเท่านั้นก็เพียงพอที่จะเตรียมตัววางแผนวิ่งล่าซากุระฟูลบลูมทั่วโทโฮคุ บนเส้นทางชินคันเซน พร้อมกับพาสรถไฟ JR EAST PASS (Tohoku area) ระหว่างวันที่ 13 – 23 เมษายน 2018 แล้วสำหรับมือใหม่ที่ต้องการไปเที่ยวญี่ปุ่นเพื่อชมซากุระควรจะเริ่มวางแผนอย่างไรให้เห็นช่วงฟูลบลูมพอดี
ก่อนอื่น อยากจะชวนให้นักเที่ยวญี่ปุ่น ด้วยตัวเองได้เห็นความพิเศษของการเที่ยวช่วงซากุระ ซึ่งต่างกับช่วงทั่วไป ดังนี้ค่ะ
- ซากุระไม่ได้อยู่รอให้เราไปชม แต่เราต้องออกไปตามหา นี่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของความสนุก
- ซากุระมีเวลาการบาน หรือที่เรียกว่าช่วงฟูลบลูมที่จำกัด อยู่เพียง 5-7 วัน มันจึงทั้งสงบสุนทรีย์ และเร้าใจในเวลาเดียวกัน
- ความสวยของซากุระมันละมุน และมีหลายรูปแบบ เช่น ซากุระในสวน ซากุระข้างแม่น้ำ ซากุระล้อมปราสาท แต่ละแบบสวยต่างกัน ลองอ่านเรื่อง แนะนำ 15 สถานที่ชมซากุระ เรียกน้ำย่อยก่อนได้ค่ะ
ความสวยละมุนมันไปกระตุ้นความรู้สึก “สวยจังน้าาา อยากเห็นอีก” ขึ้นมา - ซากุระ มาคู่กับ ความเป็นญี่ปุ่นค่ะ
เหนือสิ่งอื่นใด ซากุระจะกลายเป็นความทรงจำที่น่ารัก นั่นคือ ความร่าเริงของพวกเรา นักล่าซากุระที่ยิ้มรับดอกซากุระไม่ว่าจะอยู่บนต้นหรือที่พื้น
เริ่มทำแผนตามหัวข้อดังนี้กันค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
กางแผนการเที่ยวเพื่อชมซากุระ แจกแพลนตรงนี้เลยค่ะ

ขอเริ่มจากการเอาแผนของเราออกมากางก่อน
เราเที่ยวทั้งหมด 10 วัน
รายละเอียดของแต่ละสถานที่ในแต่ละวัน เราไปเจออะไรมาบ้าง วันไหนเราใช้พาสบ้าง เราเขียนไว้ข้างล่างนี้ค่ะ
และช่วยคลิกอ่านลิงค์รีวิวที่แปะตามชื่อสถานที่หน่อยนะคะ
รีวิวนั้นอาจจะขอเล่าออกมาในรูปแบบรีวิวปนไดอารี่ ประกอบกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ค่ะ
วันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2018 • JR EAST PASS (Tohoku Area)
วันที่ 1 : มาถึงญี่ปุ่น สนามบินนาริตะ → สวนสาธารณะซากปราสาทฟุนาโอกะ/ แม่น้ำชิโรอิชิ สถานที่ชมซากุระยอดฮิตในเซนได → กลับเอากระเป๋าที่ฝากไว้ที่สถานีโตเกียว → ไปนอนที่โตเกียว
วันเสาร์ที่ 14 เมษายน 2018
วันที่ 2 : เช้าไปตลาดสึกิจิหาของกิน → บ่ายไปคาวาโกเอะจังหวัดไซตามะ → ยังกลับมานอนที่โตเกียว
วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน 2018 • JR EAST PASS (Tohoku Area)
วันที่ 3 : ออกจากโตเกียว ขึ้นชินคันเซ็นไปฝากกระเป๋าที่สถานีโคริยาม่า → แม่น้ำคันนนจิ → นั่งแท็กซี่ไปปราสาทสึรุกะ → ไปนอนที่เซนได
วันจันทร์ที่ 16 เมษายน 2018
วันที่ 4 : นั่งชินตันเซนไปสวนสาธารณะคาโจ กินข้าวเที่ยง → นั่งแท็กซี่ไป-กลับแม่น้ำมามิงาซาคิ → นั่งรถไฟต่อไปที่สวนเทนโดบนเขาไมซูรู → กลับมานอนที่เซนได
วันอังคารที่ 17 เมษายน 2018
วันที่ 5 : เช้าไปกินข้าวที่ตลาดปลาชิโอกามะ → ชมซากุระที่ศาลเจ้าชิโอกามะ → ไปต่อที่จุดชมวิวมัตสึชิมะ ไซเกียว โมโดชิ โนะ มัตสึ → กลับมานอนที่เซนได
วันพุธที่ 18 เมษายน 2018 • JR EAST PASS (Tohoku Area)
วันที่ 6 : ออกไปขึ้นชินคันเซนแต่เช้าตรู่เพื่อไปชมซากุระที่สวนสาธารณะเทนโชจิริมแม่น้ำคิตะคามิ →แวะกินข้าวเที่ยงที่สถานีชินอาโอโมริ → เข้าไปเที่ยวในเมืองอาโอโมริ → กลับมานอนที่เซนได
วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน 2018 • JR EAST PASS (Tohoku Area)
วันที่ 7 : วันนี้ไปจุดไฮไลต์ซากุระอนุสรณ์นิจจู → กลับไปกินหมูทอดซอสทงคัตสึที่สถานีโคริยาม่า → แวะกินเกี๊ยวซ่าที่สถานีฟุกุชิม่า → กลับมานอนที่เซนไดคืนสุดท้าย
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2018
วันที่ 8 : ออกไปขึ้นรถไฟไปวัดยามาเดระ → นั่งรถไฟต่อแท็กซี่ไป Ginzan onsen คืนนี้นอนนี่
วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2018 • JR EAST PASS (Tohoku Area)
วันที่ 9 : ออกจากกินซันออนเซ็นไปขึ้นชินคันเซนไปสถานีอุเอโนะ ฝากกระเป๋า → นั่งรถไฟ JR เที่ยวในเมืองโตเกียว → นอนที่โรงแรมโตเกียวที่เดิม
วันเสาร์ที่ 21 เมษายน 2018
วันที่ 10 : โตเกียวดิสนีย์แลนด์ทั้งวัน
วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน 2018 วันที่ 11 : ออกจากที่พักเช้าตรู่ ไปขึ้นเครื่องเที่ยวบิน 12:00 น. ที่สนามบินนาริตะ
เริ่มทำแพลนเที่ยวชมซากุระอย่างไรดี สำหรับมือใหม่

เราเริ่มจองที่พักตั้งแต่ต้นปี (ถ้าในโทโฮคุเรามีจองที่พักเพียง 2 ที่เท่านั้นคือเซนได และกินซันออนเซนค่ะ) และเสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม
หลังจากจองทุกอย่างเรียบร้อย เราค่อยมาทำแผน 1. วันไหนจะตามล่าซากุระที่ไหนดี 2. วางแผนการเดินทาง ทำตารางเที่ยวไว้ 3. รวมถึงปรับแผนตามการบานของซากุระปี 2018
ทำแผนเรื่อยๆ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ยัน วันสุดท้ายก่อนบิน ฮาาา แถมพอไปถึงญี่ปุ่นยังมีปรับแผนที่หน้างานอีก
1. วันไหนจะตามล่าซากุระที่ไหนดี
เพราะว่าเราซื้อตั๋วเครื่องบินไปแล้ว วันที่เราไปจะเจอซากุระที่ไหนบานบ้าง เราเช็คก่อนไป จากเว็บไซต์ https://sakura.weathermap.jp/
การพยากรณ์การบานอาจจะคลาดเคลื่อนไป 2-5 วันได้นะคะ
ซึ่งระยะเวลาที่เรียกว่าฟูลบลูม จะมีเพียงแค่ 5-7 วันเท่านั้น
ช่วงฟูลบลูมต้นซากุระทั้งต้นจะมีแต่ดอก ไม่เห็นใบแซม ทำให้บรรยากาศสวยงามเป็นพิเศษค่ะ
เพื่อให้ไม่เสียใจควรไปก่อนวันฝนตก เพราะฝนจะพากลีบบางๆ ร่วงหมดต้น
จากตารางข้างบน ปีที่เราไปคือ 2018 ซึ่งบานเร็วกว่าทุกๆ ปีประมาณ 1 สัปดาห์
ถ้านำข้อมูลจากปี 2013-2015 มาเปรียบเทียบการบานของเมืองเซนไดร่วมด้วย 3 ปีนี้ซากุระเริ่มบานวันที่ 9, 7 และ 3 เมษายน
หมายความว่า ซากุระบานเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
และปีนี้ 2020 อัพเดตล่าสุดที่เซนไดเริ่มบานวันที่ 25 มีนาคม เร็วกว่าค่าเฉลี่ย 2 สัปดาห์ ดังนั้นใครที่ออกเดินทางช่วงสงกรานต์ก็ให้ข้ามเซนได เช่นในใจกลางเมือง ไปก่อนค่ะ
ถ้าดูจากวันที่ซากุระฟูลบลูมแล้ว นักท่องเที่ยวสายล่าซากุระโทโฮคุ คงต้องมีระยะเวลาเที่ยวทั้งหมด 18 วัน
แต่ถ้าแบ่งภูมิภาคโทโฮคุเป็นทางใต้ (จังหวัดฟุกุชิม่า จังหวัดยามางาตะ และจังหวัดมิยางิ-เมืองเซนได) และทางเหนือ (จังหวัดอิวาเตะ-เมืองโมริโอกะ จังหวัดอะกิตะ และจังหวัดอาโอโมริ) ก็จะใช้ระยะเวลาโซนละประมาณ 1 สัปดาห์ค่ะ
หรือใครจะไปเก็บความงาม ภาพพรมสีชมพูซีดจางเกือบขาวใต้ต้นซากุระก็ได้ค่ะ
ความงามที่เรียกว่า วาบิซาบิ ความงดงามของการผลิบานและร่วงโรยในเวลาอันแสนสั้น (สัจธรรมมาซะงั้น ฮา)
1.1 เครื่องมือที่ช่วยคาดคะเนการบานซากุระ
1. เริ่มต้นก่อนเดินทาง ด้วยเว็บพยากรณ์ซากุระ Sakura weathermap
2. ก่อนไป 3 วัน เช็คอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่า สถานที่ชมซากุระดังๆ ณ เวลานั้นกำลังฟูลบลูม จากเว็บไซต์ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของซากุระแบบเรียลไทม์เช่น Japan-guide
3. เมื่ออยู่ที่หน้างาน ลองติดตามเฟสบุ๊คประจำจังหวัดในโทโฮคุที่เขาอัพเดตภาพแบบเรียลไทม์ เผลอๆ มี live สด ให้ดู คิดว่าช่องทางนี้ก็มีประสิทธิภาพค่ะ
- All Around Tohoku เที่ยวทั่วโทโฮคุ JapanTohoku.TH
- อะโอโมริ HirosakiCherryBlossomFestival
- อิวาเตะ Jejeje-IWATE
- อะคิตะ akitajapanfan
- ยะมะงะตะ yamagatajapan.thai
- มิยะงิ miyagidmoth
- เมืองเซนได traveltoSendai.Japan
- ฟุคุชิมะ WeLoveFukushimaTH
แนะนำ เมือง Aizu-Wakamatsu ที่มีพื้นที่เป็นหุบเขา แม้จะอยู่ในฟุคุชิมะแต่ก็บานช้ากว่าพื้นที่ในเมือง ตามที่เพจฟุกุชิมะได้ค่ะ
2. วางแผนการเดินทาง ทำตารางเที่ยวเตรียมไว้
จากนั้นลองคำนวนเส้นทางการเดินทาง พร้อมระยะเวลาที่ใช้เดินทาง
แผนการเที่ยวเราจะไล่เที่ยวจากโทโฮคุใต้สุดจังหวัดฟุกุชิมะ ขึ้นไปทางเหนืออย่างจังหวัดอิวาเตะ
โดยทุกคืนเราจะกลับมาพักใกล้สถานีโทโฮคุชินคันเซนนั่นคือ “สถานีเซนได” ที่นี่เป็น “ศูนย์กลางโทโฮคุ” ด้านการคมนาคม ไปได้ทุกจังหวัด สะดวกในการปรับแผนแบบวันต่อวันค่ะ (เผื่อเวลาไปถึงสถานีล่วงหน้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง แวะซื้อเอคิเบนโตะที่นั่น ทีนี้ก็ได้จะได้ใช้เวลาเพลิดเพลินบนชินคันเซน)
เพื่อไม่ให้กังวลเรื่องค่าชินคันเซนจากการเปลี่ยนแผนหน้างาน เราซื้อพาสการเดินทางที่สามารถขึ้นโดยสารชินคันเซนไม่จำกัดจำนวนครั้งใน 1 วัน JR EAST PASS (Tohoku Area) ซื้อจากไทย 19,000 เยน (ซื้อในประเทศญี่ปุ่น 20,000 เยน) ใช้ได้แบบอิสระ 5 วัน ภายในระยะเวลา 14 วันนับจากวันที่เริ่มใช้
ยกตัวอย่าง ภายใน 1 วันเราก็สามารถดูซากุระข้ามจังหวัดจากอิวาเตะ แล้วไปต่อที่อาโอโมริได้ด้วย แต่ต้องคำนวนเวลาการบานให้ตรงกันพอดี (คนญี่ปุ่นเองยังอิจฉานักท่องเที่ยวแบบเราๆ ที่สามารถซื้อพาสเดินทางโดยรถไฟได้ไม่จำกัดเลยนะ)
เราเคยถามพี่ที่เขาเป็นเซียนเรื่องเที่ยวในจังหวัดฟุกุชิม่า จังหวัดนี้เขาปลูกซากุระให้ทั่วและสวยแบบตระการตาจริง เขาบอกว่า ถ้าต้องการเที่ยวช่วงซากุระแบบเปลี่ยนแผนได้ปุบปับพาสนี้คุ้ม
เพราะสถานีรถไฟไปจอดเกือบถึงจุดชมซากุระเลย
เชื่อว่าคุ้มมากๆ คุ้มอย่างไร เราขึ้นชินคันเซนไปทั้งหมดกี่เยน ลองดูตารางนี้ค่ะ
ทริปนี้ใช้ค่าตั๋วชินคันเซนไปทั้งหมด 43,150 เยน ส่วนต่างที่ซื้อพาส 19,000 เยนคือ 24,150 เยน หรือประมาณ 6,762 บาท ฉะนั้น ก็ขอให้เชื่อเถอะว่า คุ้ม!
สรุป แผนโทโฮคุนี้ได้ผลอย่างไร
จากแผนการเดินทางที่มีการปรับแผนหน้างานแล้ว เราได้ตามล่าซากุระไปทั้งหมด 12 ที่
บางที่ร่วงเหลือแต่กลีบบอบบางบนพื้น ให้มองแล้วร้องในใจดังๆ นั่งกินดังโงะแก้กลุ้ม
บางที่ฟูเต็มต้นจนเผลอร้องว้าวออกมา บางที่เป็นตุ่มอูมๆ เตรียมตัวบาน
สรุปมาเป็นหน้าเศร้า คือเฟล กับ ภาพดอกซากุระ แสดงว่าเจอฟูลบลูม เย่
จากทั้งหมด 12 ที่ เราเฟลไป 6 ที่และได้ชมแบบฟูลบลูมอีก 6 ที่ ก็ไม่เลวนะ ฮาาา
13/04 มิยางิ : ☹ แม่น้ำชิโรอิชิ Shiroishigawa Ugan Riverside Park
☹ สวนสาธารณะซากปราสาทฟุนาโอกะ Funaoka Castle Ruins Park
รีวิว : Ch.1 บ่นๆๆ ความเฟลที่พลาดชมฟูลบลูมซากุระที่สวนซากปราสาทฟุนาโอกะ เซนได
รีวิว : Ch.2 เบนโตะกิวตัน หรือลิ้นวัวย่าง ของดีประจำเมืองเซนได
15/04 ฟุกุชิม่า :
☹ แม่น้ำคันนนจิ Kannonji river sakura
รีวิว : Ch.3 ซากุระที่คันนนจิ-Kannonji River ประหนึ่งภาพวาดสีน้ำมันที่ยังวาดไม่เสร็จ
🌸 ปราสาทสึรุกะ Tsuruga-jō
รีวิว : Ch.4 ซิ่งแท็กซี่กว่าหมื่นเยนไป Tsuruga-jo เมือง Aizu-Wakamastu ซากุระจะสวยงดงามคุ้มค่าเสียหายหรือไม่ ไปดูกัน!
16/04 ยามากาตะ :
🌸 สวนสาธารณะคาโจ Kajō Park
รีวิว : Ch.5 เกิดมาคุ้มแล้ว! ได้นั่งโอะฮานามิกินยากิโซบะประหนึ่งเป็นชาวเมืองยามากาตะที่ Kajo Park
🌸 แม่น้ำมามิงาซาคิ Mamigasaki River
☹ สวนเทนโดบนเขาไมซูรู Tendo Park
รีวิว : Ch.6 เมืองเทนโด ยามากาตะ กับซากุระหมากรุกคนที่ไร้วี่แววฟูลบลูม
17/04 มิยางิ :
🌸 ศาลเจ้าชิโอกามะ Shiogama Shrine
☹ สวนมัตสึชิม่า ไซเกียว โมโดชิ โนะ มัตสึ Matsushima Saigyo Modoshi no Matsu Park
รีวิว : Ch.7 รวมเมนูที่สุด ของดีประจำเมืองเซนได กิวตัน หอยนางรม ของสดจากตลาดปลาชิโอะกามะ และซึนดะ
รีวิว : Ch.8 ครึ่งวันเพลินๆ จากศาลเจ้าชิโอะกามะ ไปต่อจุดชมวิวอ่าวมัตสึชิมะ
18/04 อิวาเตะ :
☹ สวนสาธารณะเทนโชจิริมแม่น้ำคิตะคามิ Tenshōchi
รีวิว : Ch.9 แม้ซากุระที่ที่ ‘คิตะคะมิ เท็นโชจิ’ ยังไม่บาน แต่ใจเราไม่ฝ่ออีกแล้ว
รีวิว : Ch.10 ความยิ่งใหญ่แห่งอาโอโมริ สถานี Shin-Aomori กับโฮตาเตะที่แสนคิดถึง
19/04 ฟุกุชิม่า :
🌸 อนุสรณ์นิจจู ทางสำหรับจักรยานและเดินเท้า Nicchu Line
รีวิว : Ch.11 ชมชิดาเระซากุระสวยเหมือนฝันที่ Nicchu line เมือง Kitakata และซอสึคัตสึด้งสถานี Koriyama ที่ห้ามพลาด
20/04 ยามากาตะ :
🌸 วัดยามาเดระ Yamadera
รีวิว : Ch. 12 วัดยามาเดระ แห่งยามากาตะ ของแถมการชมซากุระที่เพิ่มความทรงจำหวานละมุนๆ
รีวิว : Ch. 13 Ginzan onsen เรียวกังออนเซนสวยโรแมนติก พร้อมฉากอำลาโทโฮคุ

สรุปค่าใช้จ่าย
ทริปนี้มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จองล่วงหน้าตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.พ เลขที่ออกคือ 72,288 บาทจ้า
1. ตั๋วเครื่องบินราคา 18,792 บาท : เรานั่ง Hongkong Airline
เป็นตั๋วโปร ความดีงามคือตรงเวลามาก และซิ่งมากด้วย
2. ค่าที่พักรวม 13,761 บาท : เราพักทั้งหมด 10 คืน มีที่ถูกมาก และที่แพง 4,000 บาทต้นๆ ที่กินซัน ออนเซน โดยเฉลี่ยตกคืนละ 1,376 บาท
3. ค่าเข้า Disneyland 2,250 บาท (สำหรับใครที่ไม่ได้เข้าโตเกียวก็ตัดช้อยส์นี้ทิ้งได้เลย)
4. Pocket wifi 550 บาท : นี่ก็ราคาโปรอีกแล้ว ฮา
5. Pocket Money รวม 30,695 บาท : ที่เราก็แยกย่อยไม่ถูกว่าค่าอาหาร ค่ารถไฟที่ต้องจ่ายเพิ่ม ค่าช้อปปิ้งของที่ระลึกเบาๆ
ทริปเราจะเน้นเรื่องอาหารดีๆ ในทุกวันเพราะเราเป็นสายแดก เปลืองค่ากินนี่แหละ
6. ค่าเดินทางรวม 6,240 บาท : พาสรถไฟนั่นเอง
มีในส่วนที่ใช้ในโตเกียว Keisei skyliner one way+ 24hour subway 840 บาท
และ JR EAST PASS (Tohoku Area) 5,400 บาท
โดยสรุป
กว่ามือใหม่จะกลายเป็นเซียนในด้านการเที่ยวช่วงซากุระด้วยตัวเองได้ ก็คงต้องใช้พลังเยอะ
ผ่านความสุข ความผิดหวัง ใช้สมอง และเงินมาเยอะ ฮาาาา (หัวเราะทั้งน้ำตา)
แต่ถึงอย่างไร เราคิดว่า มันก็ยังคุ้มค่าที่ได้ไปซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงนี้
ยิ่งถ้าเราทำการบ้านหาข้อมูลสถานที่ชมซากุระและมีสำรองไว้ วางแผนให้ละเอียด แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้เมื่อถึงหน้างาน
การทำแพลนนี่แหละ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและสนุกขึ้นไปอีกจ้า
เริ่มออกเดินทาง ตามล่าซากุระ วันแรกที่เซนได กันเลย